เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อชุมชน
1. องค์ความรู้เรื่องเมล็ดข้าว
- โครงสร้างของเมล็ดข้าว
- พัฒนาการของเมล็ดข้าว
2. ลักษณะของเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี
- มีความบริสุทธิ์ตรงตามพันธุ์ ไม่มีพันธุ์ปน โดยเฉพาะข้าววัชพืช ควรมีไม่เกิน 0.25%
- ไม่มีสิ่งเจือปน เช่น เมล็ดลีบ เมล็ดวัชพืช กรวด หิน ดิน ทราย แมลงและกลุ่มก้อน เชื้อรา ควรมีไม่เกิน 2 %
- มีความงอกไม่ต่ำกว่า 80 % คือ เพาะข้าว 100 เมล็ด ต้องออกไม่ต่ำกว่า 80 เมล็ด
- มีความสม่ำเสมอทั้งขนาด รูปร่าง น้ำหนัก และสีสัน เมื่อนำไปปลูกจะได้ต้นกล้าที่ เจริญเติบโตออกดอก และเก็บเกี่ยวพร้อมกัน
- มีความแข็งแรงสูง เมื่อนำไปปลูกจะได้ต้นกล้าที่เจริญเติบโตเร็ว ทนต่อสภาพแวดล้อม
- เมล็ดสะอาด ไม่ค่อยมีแผลที่เกิดจากการทำลายของโรคและแมลง
- มีความชื้นต่ำกว่า 14 % แต่ถ้าจะเก็บ รักษาในระยะยาว ควรตากแดดหรือลดความชื้น ให้ต่ำกว่า 12 %
3. การแบ่งชั้นพันธุ์ข้าว แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
เมล็ดพันธุ์คัด ได้จากเมล็ดพันธุ์จากรวง และได้รับการควบคุมการตรวจพันธุ์อย่างถี่ถ้วน เมล็ดพันธุ์คัดนี้ผลิตโดยศูนย์วิจัยข้าวและสถานีทดลองข้าว กรมวิชาการเกษตร
เมล็ดพันธุ์หลัก ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์คัด ตามวิธีของนักปรับปรุงพันธุ์ ผลิตโดยศูนย์วิจัยข้าว ของกรมวิชาการเกษตรทุกปี เพื่อนำไปจำหน่ายให้กรมส่งเสริมการเกษตร ปลูกเป็นพันธุ์ขยายต่อไป
เมล็ดพันธุ์ขยาย ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์หลัก โดยชาวนาที่มีฝีมือดี ด้วยการปฏิบัติตามวิธีการที่ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่
เมล็ดพันธุ์จำหน่าย ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ขยาย โดยเกษตรกรพันธุ์ขยาย ด้วยการปฏิบัติตามวิธีการที่ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ เพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้แก่ชาวนาทั่วไป นำไปปลูกทำพันธุ์การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี
4. เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์
4.1 ความรู้ทั่วไปก่อนการผลิตเมล็ดพันธุ์
ระยะการเจริญเติบโตของต้นข้าว
ลักษณะสำคัญที่ใช้จำแนกพันธุ์ข้าว
1) ทรงกอ
2) ใบ
3) สีของกาบใบ
4) ดอกและวันออกดอก
5) รวง
6) เมล็ด
- สีของเมล็ดข้าวเปลือก
- สีข้าวกล้อง
- ขนาดรูปร่างของเมล็ด
4.2 ขั้นตอนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว
เทคโนโลยีนี้จะมุ่งส่งเสริมชุมชนในการผลิตเมล็ดพันธุ์ขยาย และเมล็ดพันธุ์จำหน่าย โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1) การได้มาซึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าว
เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรนำมาปลูก ได้มาจากกรมการข้าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชุมชนที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว
2) การคัดเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง
- การคัดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี 1,000 รวง
เป็นวิธีการคัดพันธุ์ข้าวที่ทำได้ง่าย เกษตรกรสามารถทำได้เอง เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่บริสุทธิ์ ไม่มีพันธุ์อื่นปน เพื่อใช้ปลูกในฤดูการถัดไป โดยมีวิธีการดังนี้
- เกษตรกรคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ต้องการเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์
- เลือกกอข้าวที่มีลักษณะดี ที่เกษตรกรชื่นชอบ เช่น มีจำนวนรวงข้าวมาก ลักษณะรวงดี มีเมล็ดเยอะ แล้วทำการรวบกอข้าว แล้วเลือกเก็บรวงข้าวที่ดีที่สุด คือ รวงที่มีเมล็ดข้าวเต็มเมล็ด ไม่มีโรค ไม่มีเชื้อรา และไม่มีรอยแมลงทำลาย เก็บจำนวน 1,000 รวง
- มัดรวมกันมัดละ 100 รวง ตากให้แห้งและเก็บในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อเก็บไว้ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ในฤดูการปลูกถัดไป ซึ่งพันธุ์ข้าว 1,000 รวง น้ำหนักประมาณ 3 - 4 กิโลกรัม ปลูกโดยการปักดำแบบต้นเดียว ได้ประมาณ 3 ไร่
3) การใช้น้ำเกลือคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว
- นำภาชนะใส่น้ำ ใส่เกลือลงไป คนให้เข้ากัน
- นำไข่ไก่ดิบใส่ลงไปในน้ำเกลือเพื่อวัดความเค็ม หากไข่ไก่จมแสดงว่าความเค็มยังไม่พอดี ถ้าหากไข่ไก่ฟูลอยขึ้นแสดงว่าความเค็มได้ที่พอดี
- นำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่คัดไว้เทลงน้ำที่ความเค็มได้ที่ แยกเมล็ดข้าวที่ฟูลอยตัวออกทิ้ง แล้วนำเมล็ดข้าวที่จมไปล้างออกด้วยน้ำเปล่าประมาณ 3 - 4 ครั้ง
- นำไปปลูก หรือตากแห้งไว้ใช้ปลูก
ข้อดีของวิธีนี้ คือ ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์ ไม่แตกหัก มีอัตราการงอกสูง สามารถกำจัดเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคที่ติดมากับเมล็ดได้
4) การทดสอบอัตราการงอกเมล็ดพันธุ์ข้าว
- นำกระดาษเพาะหรือกระดาษทิชชูซ้อนกัน 3-5 ชั้น วางบนฝา หรือจานแบน ๆ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
- โรยเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 100 เมล็ดลงบนกระดาษกระดาษเพาะหรือกระดาษทิชชู จำนวนเมล็ดที่ทำการทดสอบควรใช้อย่างน้อย 400 เมล็ด โดยแบ่งเป็น 4 ซ้ำ ซ้ำละ 100 เมล็ด
- เมื่อครบเวลา 4 - 5 วัน ตรวจดูต้นกล้าปกติ (ต้นอ่อนที่มียอด รากสมบูรณ์) ต้นกล้าผิดปกติ (ต้นที่มาสามารถเจริญเป็นต้นปกติได้ เช่น ไม่มียอด รากสั้น เป็นต้น) และเมล็ดไม่งอก
- เมล็ดพันธุ์ที่ดีมีความงอกไม่ต่ำกว่า 80 % คือ เพาะข้าว 100 เมล็ด ต้องออกไม่ต่ำกว่า 80 เมล็ด
5) การเลือกพื้นที่และการเตรียมดิน
1) เลือกดินที่ไม่มีปัญหาในการผลิต เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ดีอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง
2) เปลี่ยนแปลงหรือกระทงนาที่มีคันนาล้อมรอบ ในแต่กระทงนาควารปรับระดับพื้นนา ให้เรียบสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง สามารถควบคุมระดับน้ำได้และมีระบบชลประทานที่ดี
3) ไม่มีข้าวเรื้อในแปลงนา และไม่มีข้าวป่าเจริญเติบโตอยู่บนคันนาหรือบริเวณใกล้เคียงหากมีการปลูกข้าวพันธุ์อื่นมาก่อนต้องเข้มขวดในการเตรียมดินเป็นพิเศษ
4) ปรับปรุงดินให้ร่วนซุยเหมาะกับระบบรากของรากข้าว ที่เป็นระบบรากฝอย ด้วยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสด
5) ไถดินลึกจากผิวหน้าดินประมาณ 15 เซนติเมตร
6) แปลงที่ใช้ตกกล้าควรปล่อยให้ว่างหลังจากการปลูกข้าว หลังจากถอนกล้าไปแล้ว ถอนกล้าออกให้หมด ไถแปลงกล้าทิ้งและปล่อยไว้ เพื่อป้องกันปัญหาข้าวเรื้อ
การปลูก
ข้อแนะนำในการปลูกในแต่ละชั้นพันธุ์ข้าว มีข้อแนะนำดังนี้
1) วิธีปักดำ
การตกกล้า ตกกล้าโดยใช้เมล็ดพันธุ์ 50 กรัมต่อ 1 ตารางเมตร หรือ 5 กิโลกรัมต่อ 100 ตารางเมตร (สำหรับปักดำ 1 ไร่) ปักป้ายบอกชื่อพันธุ์ และวันตกกล้า การถอนกล้า ให้ถอนกลางแปลง ทิ้งขอบแปลงไว้ประมาณ 10 ซม.
การปักดำ ระยะระหว่างแถว 25 ซม. ระหว่างกอ 25 ซม. ปักดำกอละ 1 ต้น ระยะระหว่างผืนนา 50 ซม ระยะห่างระหว่างพันธุ์ 3 เมตร การซ่อมต้นกล้าที่ตายให้ซ่อมโดยเร็ว ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นข้าวจะออกดอกล่าช้า
2) วิธีหว่าน
อัตราเมล็ดพันธุ์ที่แนะนำ นาหว่าน 15- 20 กก./ไร่ การเตรียมเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก ควรแช่น้ำ 12-24 ชม. ก่อนนำไปหว่าน
|
เมล็ดพันธุ์คัด |
เมล็ดพันธุ์หลัก |
เมล็ดพันธุ์ขยาย |
เมล็ดพันธุ์จำหน่าย |
การปลูก |
นาดำ รวง/แถว |
นาดำ 1 ต้น/1 กอ |
นาดำ ปลูกเป็นแถว
|
-นาหว่าน -นาหยอด -นาดำ |
การตรวจตัดข้าวปน
ลักษณะประจำพันธุ์ข้าวที่ใช้ในการพิจารณาตรวจตัดข้าวปน
- รูปทรงของต้นข้าวและการแตกกอ
- ขนาดของต้นและใบ
- สีของต้นและใบ
- ต้นเตี้ยหรือสูง
- มีอายุการเก็บเกี่ยวหรือเก็บเกี่ยวได้อย่างไร
- ลักษณะของรวง
- การยึดของคอรวงอยู่ห่างมากหรือน้อย
- ระหว่างโคนรวงกับข้อต่อของใบธง
- สีของเปลือกเมล็ด
ข้อแนะนำในการตรวจคัดพันธุ์ปนในระยะต่าง ๆ ของข้าวในแต่ละชั้นพันธุ์ข้าวเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว
ระยะข้าว |
เมล็ดพันธุ์คัด |
เมล็ดพันธุ์หลัก |
เมล็ดพันธุ์ขยาย |
เมล็ดพันธุ์จำหน่าย |
ระยะกล้า |
√ |
√ |
√ |
√ |
ระยะแตกกอ |
√ |
√ |
- |
- |
ระยะออกดอก |
√ |
√ |
√ |
√ |
ระยะข้าวโน้มรวง |
√ |
√ |
√ |
- |
ระยะเมล็ดสุกแก่ |
√ |
√ |
√ |
√ |
ควรมีการตรวจคัดพันธุ์ปนทำสม่ำเสมอ 5 ระยะ คือ
- ระยะในแปลงกล้า ต้องตรวจดูกล้าที่มีลักษณะผิดปกติหรือข้าวที่เป็นโรค ให้ทำลายเสีย
- ระยะแตกกอ ตรวจดูลักษณะการแตกกอ การชูใบ สีของส่วนต่างๆ ของใบและต้น ความสูง เป็นต้น โดยให้ตัดทิ้งทั้งกอ
- ระยะออกดอก ความสูงต่ำของต้นข้าวในระยะออกดอก อายุของการออกดอก การออกดอกไม่สม่ำเสมอ ลักษณะดอก สีและขนาดของดอก เกศรตัวผู้และเกสรตัวเมียให้ตัดทิ้งทั้งกอ
- ระยะข้าวโน้มรวง หลังข้าวออกดอกและอยู่ในระยะการสร้างแป้งในเมล็ดรวงข้าวจะเริ่มโน้มรวงเพราะเมล็ดมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อมีบางรวงโน้มลงไม่สม่ำเสมอ หรือไม่พร้อมกันให้ตัดทิ้งทั้งกอ
- ระยะเมล็ดแก่ ข้าวเมื่อแก่จัด รวงจะเริ่มเหลือง ให้ตรวจดูลักษณะของรวงและเมล็ดให้ตรงตามพันธุ์ รวมทั้งความผิดปกติจากโรคหรือแมลงรบกวนให้ตัดทิ้งทั้งกอ
การเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อนำไปใช้ทำเป็นเมล็ดพันธุ์ควรเก็บเกี่ยวเมื่อข้าวแก่จัด คือ ต้องตรวจดูเมล็ดในรวงเกือบทุกเมล็ดแก่สุกทั้งรวง หรือนับจากที่รวงข้าวออกดอกแล้วประมาณ 30 -35 วัน
เมล็ดพันธุ์ที่จะนำมาใช้ทำพันธุ์ต้องต้องตรงตามพันธุ์ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่แก่จัดสมบูรณ์ และปราศจากโรคและแมลงรบกวน หรือทำลาย
เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ควรตากแดดไว้ในแปลงนา 5 – 7 วัน จนกว่าข้าวจะมีความชื้น ประมาณ 12 – 14 เปอร์เซ็นต์ จึงจะนำไปนวดได้
ข้อแนะนำในการเก็บเกี่ยวในแต่ละชั้นพันธุ์ข้าว ดังนี้
|
เมล็ดพันธุ์คัด |
เมล็ดพันธุ์หลัก |
เมล็ดพันธุ์ขยาย |
เมล็ดพันธุ์จำหน่าย |
การเก็บเกี่ยว |
เกี่ยวมือ 1,000 รวง |
เกี่ยวมือ
|
เกี่ยวปกติ |
เกี่ยวปกติ |
การทำความสะอาด
การทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อคัดแยกสิ่งเจือปนต่างๆ
เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีสิ่งเจือปนต่างๆ
เมล็ดพันธ์ข้าวที่คัดแยกแล้ว
การเตรียมยุ้งฉาง
ยุ้งฉางที่จัดเก็บควรป้องกัน นก หนู และฝน เป็นอย่างดี ควรมีการทำความสะอาดและเป็นสถานที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีการรมหรือพ่นสารเคมีป้องกันแมลงก่อน การวางกระสอบควรวางบนแท่นไม้รองรับ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกและไม่วางบนพื้นฉางที่มีความชื้นสูงทำให้ข้าวได้รับความเสียหาย
ยุ้งฉางในระดับครัวเรือน
การวางกระสอบข้าวในยุ้งฉาง
การเก็บตัวอย่างวิเคราะห์
เก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวไปวิเคราะห์เพื่อหาอัตราของเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ ส่งเจือปน ความชื้น และอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ข้าว โดย การสุ่มเก็บตัวอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะสามารถใช้เป็นตัวแทนที่ดีของรุ่น การเก็บตัวอย่างให้เก็บรุ่นละประมาณ 1 กิโลกรัม รุ่นใดไม่เกิน 6 กระสอบ ให้เก็บตัวอย่างทุกกระสอบ ส่วนรุ่นที่เกิน 6 กระสอบ ให้เก็บเพิ่มอีกร้อยละ 10
5. เกณฑ์ในการแบ่งชั้นพันธุ์เมล็ดพันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์
มีเกณฑ์ดังต่อไปนี้
|
เมล็ดพันธุ์คัด |
เมล็ดพันธุ์หลัก |
เมล็ดพันธุ์ขยาย |
เมล็ดพันธุ์จำหน่าย |
เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ (ร้อยละ) |
98 |
98 |
98 |
98 |
เมล็ดอื่นสูงสุด (ร้อยละ) |
ไม่มี |
0.10 |
0.15 |
0.20 |
สิ่งเจือปนสูงสุด (ร้อยละ) |
2 |
2 |
2 |
2 |
ความชื้นสูงสุด (ร้อยละ) |
14 |
14 |
14 |
14 |
ความงอกต่ำสุด (ร้อยละ) |
80 |
80 |
80 |
80 |
- ในเมล็ดพันธุ์หลักข้าวเจ้า ไม่ให้มีข้าวเหนียวปน
- ในเมล็ดพันธุ์หลักข้าวเหนียวมีข้าวเจ้าปนได้ไม่เกิน 5 เมล็ดใน 500 กรัม
- ในทางปฏิบัติสำหรับเมล็ดข้าวพันธุ์หลักจะใช้ความงอก (ต่ำสุด) 85% ในการพิจารณาจัดสรรและแนะนำให้ลดความชื้นลงต่ำกว่า 12%
6. ประโยชน์ของการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์
- เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีอัตรางอกและความแข็งแรงสูง
- เมล็ดพันธุ์ข้าวเจริญเติบโตเร็วและสม่ำเสมอ
- เมล็ดพันธุ์ข้าวทนทานต่อสภาพแวดล้อมดีกว่าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป
- ได้ต้นข้าวและผลผลิตข้าวตรงตามพันธุ์
- สามารถให้ผลผลิตสูงกว่าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป 10-20 %
- ประหยัดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ต่อไร่ เพราะใช้อัตราต่ำกว่าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป
- ป้องกันการแพร่ระบาดของข้าววัชพืช (ข้าวดีด ข้าวเด้ง)
อ้างอิง
กรมวิชาการเกษตร. 2559. การตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ แหล่งที่มา : www.doa.go.th/fcri/images/files/soybean/chapter10.pdf. 07 ตุลาคม 2559
กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว. 2559. องค์ความรู้เรื่องข้าว. แหล่งที่มา : http://www.brrd.in.th/rkb/. 09 ตุลาคม 2559.
คลังข้อมูลสารสนเทศข้าวเชิงลึก. 2559. การเพาะปลูกข้าว. แหล่งที่มา : http://www.arda.or.th/kasetinfo/rice/ricecultivate&fertiliset/
ricecultivate_manage_natheesoong.html. 07 ตุลาคม 2559
มูลนิธิข้าวขวัญ. 2559. เทคนิคการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว. แหล่งที่มา : https:// www.gotoknow.org/posts/13872. 10 ตุลาคม 2559
องค์ความรู้ทางการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้. 2559. การผลิตเมล็ดพันธุ์สู่ชุมชน. แหล่งที่มา : http://research.rae.mju.ac.th/raebase/index.php/base- learning/rice/54-rice1. 10 ตุลาคม 2559
เอกสารวิชาการ ข้าว กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลำดับ
ที่ 18/2547 2559. แหล่งที่มา : http://www.brrd.in.th/rkb/ Manual. 09 ตุลาคม 2559.
- admin's blog
- Log in to post comments