1. ข้อมูลทั่วไป
1.1 ข้าวไร่
ข้าวไร่ คือ ข้าวที่ปลูกบนที่ดอนและไม่มีน้ำขังในพื้นที่ปลูก พื้นที่ดอนส่วนมากเป็นที่ลาดชันเชิงภูเขา กักเก็บแร่ธาตุและสารอาหารได้น้อย รวมทั้งการปลูกข้าวไร่ต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว พื้นดินที่ปลูกข้าวไร่จะแห้ง และขาดน้ำทันทีเมื่อสิ้นฤดูฝน ดังนั้นการปลูกข้าวไร่จะต้องใช้พันธุ์ข้าวที่มีอายุเบา โดยปลูกช่วงต้นฤดูฝน และเก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายฤดูฝน
ตัวอย่างแปลงปลูกข้าวไร่บนพื้นที่สูง
ช่วงปลูก ช่วงเก็บเกี่ยว
ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. |
1.2 ระยะเวลาปลูกข้าวไร่
ส่วนใหญ่การปลูกข้าวไร่ จะปลูกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมหรือช่วงต้นฤดูฝน และจะเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม หรือช่วงปลายฤดูฝน หากปลูกข้าวไร่เร็วเกินไป คือ ปลูกข้าวไร่ก่อนเดือนเมษายนหรือก่อนฤดูฝน และปลูกข้าวไร่ช้าเกินไป คือ ปลูกข้าวไร่หลังเดือนพฤษภาคม จะส่งผลให้ข้าวเจริญเติบโตได้ไม่ดี เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ไม่เพียงพอ ทำให้ได้ผลผลิตข้าวต่ำ
2. เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตข้าวไร่
2.1 การคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม
พันธุ์ข้าวไร่ที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
- ให้ผลผลิตสูง
- ทนแล้งได้ดี
- ทนโรคและแมลง
- เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่หนาวเย็น
- สามารถสังเคราะห์แสงได้ดี เพราะพื้นที่สูงมีช่วงแสงสั้น
- มีอัตราการงอกสูง และไม่มีสิ่งเจือปนอื่นๆ
2.2 การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี
ข้าวไร่ที่เกษตรกรปลูกส่วนใหญ่ เป็นข้าวไร่พันธุ์พื้นเมืองที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และยังไม่ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมการข้าว เกษตรกรจึงเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง โดยเก็บจากแปลงที่ปลูกทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่บริสุทธิ์ ดังนั้นจึงต้องมีการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับเก็บเป็นเชื้อพันธุ์ เนื่องจากมีความสำคัญต่อกระบวนการผลิตข้าว ซึ่งกระบวนการคัดพันธุ์ข้าวไร่นั้น เกษตรกรต้องมีการคัดพันธุ์อย่างสม่ำเสมอและทำต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป เนื่องจากข้าวไร่นั้นมีความแปรปรวนทางพันธุกรรมสูง ประกอบทั้งเกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์ข้าวไร่ใกล้เคียงกัน จึงทำให้พันธุ์ข้าวไร่นั้นมีโอกาสที่จะปนกันมาก
เทคนิคการเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว
ก. การคัดเลือกพันธุ์ข้าวให้มีความบริสุทธิ์
- เริ่มคัดพันธุ์ตั้งแต่ข้าวในระยะแตกกอ ออกดอก และก่อนเก็บเกี่ยว
- ดูความสม่ำเสมอหรือลักษณะส่วนใหญ่ที่แสดงออกในแต่ระยะ
- ต้นที่แสดงลักษณะไม่เหมือนส่วนใหญ่ให้ถอนทิ้ง หรือทำเครื่องหมายไว้ที่ต้นต้องการทำเมล็ดพันธุ์
- เก็บเกี่ยวโดยแยกข้าวที่คัดเลือกกับข้าวที่บริโภคออกจากกัน
- ตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปนวดเฉพาะข้าวที่คัดเลือก
- ตากแดดให้แห้ง ประมาณ 1 - 2 วัน (ความชื้น 11 - 12 %)
- นำไปเก็บโดยแยกข้าวที่ทำเมล็ดพันธุ์กับข้าวที่บริโภคออกจากกัน
- การใช้พันธุ์ข้าวที่บริสุทธิ์จะให้ผลผลิตสูงกว่าการใช้พันธุ์ข้าวที่ไม่บริสุทธิ์
-
ระยะกล้า ระยะแตกกอ ระยะออกดอก
ระยะโน้มรวง ระยะสุกแก่
ระยะที่ควรคัดพันธุ์ข้าวปน
ข. การคัดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี 1,000 รวง
เป็นวิธีการคัดพันธุ์ข้าวที่ทำได้ง่าย เกษตรกรสามารถทำได้เอง เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่บริสุทธิ์ ไม่มีพันธุ์อื่นปน เพื่อใช้ปลูกในฤดูการถัดไป โดยมีวิธีการดังนี้
1) เกษตรกรคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ต้องการเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์
2) เลือกกอข้าวที่มีลักษณะดี ที่เกษตรกรชื่นชอบ เช่น มีจำนวนรวงข้าวมาก ลักษณะรวงดี มีเมล็ดเยอะ แล้วทำการรวบกอข้าว แล้วเลือกเก็บรวงข้าวที่ดีที่สุด คือ รวงที่มีเมล็ดข้าวเต็มเมล็ด ไม่มีโรค ไม่มีเชื้อรา และไม่มีรอยแมลงทำลาย เก็บจำนวน 1,000 รวง
3) มัดรวมกันมัดละ 100 รวง ตากให้แห้งและเก็บในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อเก็บไว้ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ในฤดูการปลูกถัดไป ซึ่งพันธุ์ข้าว 1,000 รวง น้ำหนักประมาณ 3 - 4 กิโลกรัม ปลูกโดยการปักดำแบบต้นเดียว ได้ประมาณ 3 ไร่
2.3 การทดสอบเมล็ดพันธุ์ข้าวก่อนปลูก
หากมีการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่มีโรค ไม่มีแมลงทำลาย และมีอัตราการงอกสูง เมื่อนำไปปลูกจะทำให้ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น
เทคนิคการทดสอบเมล็ดพันธุ์ข้าว
ก. การใช้น้ำเกลือคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว มีวิธีการ ดังนี้
1) นำภาชนะใส่น้ำ ใส่เกลือลงไป คนให้เข้ากัน โดย น้ำ 5 ลิตร จะใส่เกลือ 0.6 กิโลกรัม หรือ 6 ขีด โดยประมาณ
2) นำไข่ไก่ดิบใส่ลงไปในน้ำเกลือเพื่อวัดความเค็ม หากไข่ไก่จมแสดงว่าความเค็มยังไม่พอดี ถ้าหากไข่ไก่ฟูลอยขึ้นแสดงว่าความเค็มได้ที่พอดี
3) นำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่คัดไว้เทลงน้ำที่ความเค็มได้ที่ แยกเมล็ดข้าวที่ฟูลอยตัวออกทิ้ง แล้วนำเมล็ดข้าวที่จมไปล้างออกด้วยน้ำเปล่าประมาณ 3 - 4 ครั้ง
4) นำไปปลูก หรือตากแห้งไว้ใช้ปลูก
ข้อดีของวิธีนี้ คือ ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์ ไม่แตกหัก มีอัตราการงอกสูง สามารถกำจัดเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคที่ติดมากับเมล็ดได้
ข. การทดสอบอัตราการงอกเมล็ดพันธุ์ข้าว
1) นำกระดาษเพาะหรือกระดาษทิชชูซ้อนกัน 3-5 ชั้น วางบนฝา หรือจานแบน ๆ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
2) โรยเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 100 เมล็ดลงบนกระดาษกระดาษเพาะหรือกระดาษทิชชู ควรทำ 4 ซ้ำ ซ้ำละ 100 เมล็ด
3) เมื่อครบเวลา 4 - 5 วัน ตรวจดูต้นกล้าปกติ (ต้นอ่อนที่มียอด รากสมบูรณ์) ต้นกล้าผิดปกติ (ต้นที่มาสามารถเจริญเป็นต้นปกติได้ เช่น ไม่มียอด รากสั้น เป็นต้น) และเมล็ดไม่งอก
4) เมล็ดพันธุ์ที่ดีมีความงอกไม่ต่ำกว่า 80 % คือ เพาะข้าว 100 เมล็ด ต้ออกไม่ต่ำกว่า 80 เมล็ด
2.4 การเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวไร่
การเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวไร่ เตรียมแปลงโดยการถอนและถางเศษพืชและวัชพืช ก่อนปลูก 1 เดือน ระหว่างเตรียมดินควรมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับปรุงดิน และปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินหลังเก็บเกี่ยว
2.5 การปลูกข้าวไร่
1) วิธีการปลูกข้าวไร่
การปลูกข้าวไร่ โดยปลูกแบบหยอดเป็นหลุม ให้มีระยะห่างประมาณ 25 x 25 เซนติเมตร หรือขนาดประมาร 1 คืบครึ่ง โดยใช้เมล็ดข้าว 8 - 10 เมล็ดต่อหลุม ในหลุมที่ไม่งอกหรือถูกทำลายโดยแมลง ให้เกษตรกรทำการซิม กล้าหรือหยอดเมล็ดข้าวเพิ่ม ในระยะต้นกล้า กำจัดวัชพืชโดยการถางและถอน ประมาณ 2 - 3 ครั้ง ป้องกันและกำจัดโรค โดยการตัดใบที่ติดโรคไปเผา แล้วป้องกันโดยการฉีดพ่นสารอินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง ได้แก่ น้ำปูนขาว และน้ำขี้เถ้าไฟ ในอัตรา 1 กก.ต่อน้ำ 50 ลิตร
2) การใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพเพื่อเพิ่มผลผลิต
ข้าวไร่อาศัยธาตุอาหารจากดินในการเจริญเติบโต แต่สภาพดินส่วนใหญ่ในการปลูกข้าวไร่ในปัจจุบันนี้ยังคงขาดความอุดมสมบูรณ์ ปุ๋ยที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกข้าวไร่ คือ ปุ๋ยอินทรีย์ เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก และธาตุอาหารรอง รวมถึงจุลชีพที่เพียงพอต่อความต้องการของพืช ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยในการปรับปรุงดิน และการเจริญเติบโตของพืช
การใส่ปุ๋ยข้าวไร่จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะความชื้นในดินและสภาพของพื้นที่ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน ธาตุอาหารในปุ๋ยอินทรีย์มีโอกาสสูญเสียจากการซึม และการไหลบ่าของน้ำ
ดังนั้นการใส่ปุ๋ยในแปลงปลูกข้าวไร่ ควรมีการขุดเปิดหน้าดินก่อนใส่ โดยการเปิดหน้าดินนั้นควรให้มีลักษณะคล้ายกับ “ดินยิ้ม” เพราะว่า ในสภาพแปลงปลูกข้าวไร่ของเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ลาดชัน ถ้าหากไม่ทำการขุดเปิดหน้าดินก่อน ปุ๋ยที่ใส่ลงไปก็จะไหลลงสู่ที่ต่ำหมด ทำให้ข้าวไร่ที่อยู่ในพื้นที่ลาดชันไม่ได้รับปุ๋ยที่ใส่ลงไป
ซึ่งอัตราที่เหมาะสมต่อการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในแปลงปลูกข้าวไร่ ควรใช้ในอัตรา 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าหากเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงควรใช้ในอัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ จึงจะทำให้ผลผลิตข้าวไร่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสมในการใส่ปุ๋ยอินทรีย์นั้น ควรใส่ในช่วงที่ข้าวอยู่ในระยะต้นกล้า - ระยะแตกกอ หรือให้ใส่ทุกครั้งหลังจากกำจัดวัชพืช
การขุดเปิดหน้าดิน | การใส่ปุ๋ยในแปลงปลูกข้าวไร่ |
![]() |
![]() |
3) การเก็บเกี่ยว
- ควรเก็บเกี่ยวข้าวระยะสุกแก่ หรือหลังจากข้าวออกดอกแล้วประมาณ 30 วัน
- การลดความชื้นข้าวหลังเก็บเกี่ยว โดยทั่วไปแล้วมี 2 วิธีคือ
การตากสุ่มซัง หลังจากเกี่ยวแล้วจะตากรวงข้าวทิ้งไว้บนตอซังประมาณ 3-4 แดด แล้วนำไปนวด เป็นวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติกันโดยทั่วไป
การตากหลังนวด เมื่อเกี่ยวข้าวแล้วทำการนวดทันที กรณีนี้จะทำเมื่อต้องการนำข้าวไปบริโภคแต่พบไม่บ่อยนัก
- การเก็บรักษา หลังจากที่นวดข้าวและทำความสะอาดแล้ว ควรเก็บไว้ในยุ้งฉางที่สะอาด ระบายอากาศได้ กันแดด กันฝน กันแมลงและสัตว์ศัตรูได้ หากไม่มียุ้งฉางสามารถเก็บไว้ในกระสอบ แต่ไม่ควรเป็นกระสอบหรือถุงที่เป็นพลาสติก เนื่องจากกระสอบประเภทนี้ไม่สามารถระบายอากาศได้จะทำให้เกิดเชื้อรา และวางบนแคร่ที่สามารถระบายอากาศได้
![]() |
![]() |
การเก็บรักษาไว้ในยุ้งฉาง | การวางกระสอบข้าว |
3.ปุ๋ยหมักชีวภาพ
วิธีทำปุ๋ยหมักชีวภาพ
- การเลือกสถานที่กองปุ๋ยหมัก ตั้งอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดของเศษพืชและแหล่งน้ำ มีพื้นที่เพียงพอในการทำปุ๋ยหมัก และไม่ควรมีน้ำขัง
- ลักษณะกองปุ๋ยหมัก มีทั้งกองบนพื้นและกองในหลุม การจัดแบ่งวัสดุหมัก จะจัดแบ่งเป็นชั้น ๆ สลับไปมาระหว่างเศษพืชและกากของเสีย
- วัสดุที่ใช้ในการทำปุ๋ยหมัก หากใช้เศษพืชกับปุ๋ยคอก ควรใช้อัตราส่วน เศษพืช 100 ส่วน ต่อปุ๋ยคอกประมาณ 20 ส่วน
- การดูแลกองปุ๋ยหมัก ควรกลับกองปุ๋ยหมักประมาณ 7 - 10 วันต่อครั้ง และรักษาความชื้น โดยการรดน้ำอย่างสม่ำเสมอหรือใช้วัสดุบางประเภทปิดคลุ่มบนกองปุ๋ยหมัก เพื่อลดการระเหยของน้ำ เช่น แผ่นพลาสติก ใบทางมะพร้าวแห้ง เป็นต้น
ตัวอย่างปุ๋ยหมักชีวภาพ
ประโยชน์ของปุ๋ยหมัก
- ช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์
- ช่วยเปลี่ยนสภาพของดินจากดินเหนียวหรือดินทรายให้เป็นดินร่วน ทำให้สะดวกในการไถพรวน
- ช่วยสงวนรักษาความชุ่มชื้นในดินได้ดีขึ้น
- ทำให้การถ่ายเทอากาศในดินได้ดี
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ปุ๋ยเคมี สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ และใช้แทนปุ๋ยเคมีได้
- ช่วยกระตุ้นให้ธาตุอาหารพืชบางอย่างในดินที่ละลายน้ำยากให้ละลายน้ำง่ายเป็นอาหารแก่พืชได้ดีขึ้น
- ไม่เป็นอันตรายต่อดินแม้จะใช้ในปริมาณมากและติดต่อกันนาน ๆ
อ้างอิง
กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว. 2559. องค์ความรู้เรื่องข้าว
แหล่งที่มา : http://www.brrd.in.th/rkb/. 09 ตุลาคม 2559.
คลังข้อมูลสารสนเทศข้าวเชิงลึก. 2559. การเพาะปลูกข้าว. แหล่งที่มา :
http://www.arda.or.th/kasetinfo/rice/rice-cultivate&fertiliset/
ricecultivate_manage_natheesoong.html. 07ตุลาคม 2559
ปัทมา ศิริธัญญา, 2550, “การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตข้าวไร่เชิงอนุรักษ์
และทดสอบพันธุ์ข้าวไร่เพื่อการบริโภคพอเพียงในครัวเรือนในพื้นที่โครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน”, รายงานการวิจัย, ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ.
สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว. กรมการข้าว. 2559. เมล็ดพันธุ์ข้าว แหล่งที่มา :
www.ricethailand.go.th/info_riceknowledge.html. 07 ตุลาคม 2559
- admin's blog
- Log in to post comments